"วิถีแห่ง สตีฟ จอบส์" จะนำเราท่องไปกับเรื่องราวชีวิตการทำงานที่น่าอัศจรรย์ใจของสตีฟ จอบส์ ตั้งแต่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่พริกโฉมเกมธุรกิจไปตลอดกาลอย่าง แอบเปิล II และแมคอินทอช สู่การตกกระป๋อง ก่อนที่จะเกิดใหม่อีกครั้งในฐานะผู้ถือหางเสือแอบเปิล การเข้ามาเกี่ยวข้องกับ พิกซาร์ และการพัฒนา ไอพอด ไอโฟน ไอแพด และอื่นๆ อีกมากมาย
<<บางส่วนจากหนังสือ>>
ผมอยู่ที่บริเวณนั่งคอยโต๊ะว่างในภัตตาคารแห่งหนึ่ง...มันน่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด สำหรับการได้พบกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณ
ข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์ธุรกิจที่ผมอ่านอยู่พูดถึงหายนะของอีเกิลคอมพิวเตอร์...บริษัทเทคโนโลยีเปิดใหม่ ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งนั่งรอโต๊ะว่างอยู่เช่นกันก็กำลังอ่านข่าวนี้อยู่ด้วย เราสองคนคุยกันถึงเรื่องนี้ แล้วผมก็เล่าให้เขาฟังว่าข่าวดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชีวิตผม เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งบอกกับแอนดี้ โกรฟ ประธานของอินเทล ซึ่งเป็นนายของผมว่าผมจะลาออก เพื่อไปทำงานกับกลุ่มผู้ก่อตั้งอีเกิลคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
ซีอีโอของอีเกิลกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีทันทีในวันที่บริษัทเสนอขายหุ้นแก่สาธารณะ และเขาฉลองด้วยการออกไปดื่มกับเพื่อนๆ ผู้ร่วมก่อตั้ง จากนั้นขับรถตรงไปซื้อเฟอร์รารี และเกิดอุบัติเหตุรถชนกันเมื่อนำรถจากดีลเลอร์ไปทดสอบขับ ซีอีโอเสียชีวิต บริษัทล้ม งานที่ผมอุตส่าห์ลาออกจากอินเทลก็จบเห่ก่อนที่จะไปรายงายตัวเสียอีก
ชายที่ผมเล่าเรื่องให้ฟังเริ่มสอบถามถึงประวัติของผม เราสองคนต่างกันไปคนละขั้ว เขาเป็นหนุ่มมาดฮิปปี้อายุยี่สิบกว่าๆ สวมกางเกงยีนส์และรองเท้ากีฬา ส่วนสิ่งที่เขาเห็นในตัวผมก็คือ หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบกว่าคนหนึ่ง สูงหกฟุตห้านิ้ว หุ่นล่ำบึ้กแบบนักกีฬา เป็นนักธุรกิจประเภทใส่สูทผูกเนคไท สิ่งเดียวที่ดูเหมือนว่าเราสองคนจะเหมือนกันคือ ตอนนั้นเราไว้เคราด้วยกันทั้งคู่
จากนั้นไม่นาน เราสองคนก็พบว่าเราต่างคลั่งไคล้ในคอมพิวเตอร์ หมอนั่นเป็นคนไฮเปอร์สุดๆ เต็มไปด้วยพลัง และทึ่งมากเมื่อรู้ว่าผมเคยมีตำแหน่งใหญ่โตในบริษัทเทคโนโลยีและขอลาออกจากไอบีเอ็ม เมื่อพบว่าพวกเขารับไอเดียใหม่ๆ ได้ช้าเกินไป
เขาแนะนำตัวกับผมว่าเขาคือสตีฟ จอบส์ ประธานกรรมการของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นผมแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อแอปเปิล แต่รู้สึกไม่ชอบมาพากลนักกับบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีเด็กหนุ่มผู้นี้เป็นประธาน
แล้วเขาก็ทำให้ผมประหลาดใจเมื่อบอกว่าเขาอยากให้ผมไปทำงานด้วย ผมบอกว่า “ผมคิดว่าคุณจ้างผมไม่ไหวหรอก” ตอนนั้นสตีฟอายุ 25 ในปีเดียวกันนั้นเมื่อแอปเปิลเข้าตลาดหุ้นเขามีสินทรัพย์ราว 250 ล้านเหรียญ แน่นอนว่า เขาและบริษัทจ้างผมไหว
วันศุกร์สองสัปดาห์หลังจากนั้น ผมก็เริ่มทำงานกับแอปเปิลด้วยเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย และสต็อกออปชัน(ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการซื้อหุ้น) มากกว่าที่ผมได้รับจากอินเทลมาก พร้อมคำอำลาจากแอนดี้ โกรฟ ว่าผม”กำลังตัดสินใจผิดพลาดครั้งสำคัญ---แอปเปิลไม่มีอนาคตหรอก”
สตีฟมักจะสร้างความประหลาดใจให้ผู้คนด้วยการไม่บอกอะไรให้รู้ทั้งสิ้นจนกระทั่งนาทีสุดท้าย บางทีอาจจะเป็นวิธีของเขาในการทำให้คุณเสียหลักนิดๆ เพื่อจะได้ควบคุมคุณได้อีกหน่อย วันแรกของการทำงาน ก่อนที่”การพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกันมากขึ้น”ในตอนบ่ายจะจบลง เขาเอ่ยขึ้นว่า “พรุ่งนี้ไปขับรถเล่นกันหน่อยนะ มาเจอผมตอนสิบโมงเช้า ผมมีอะไรอยากให้คุณดู” ผมไม่รู้เลยว่าเขาจะมาไม้ไหน และผมควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เช้าวันเสาร์ เราขึ้นรถเบนซ์ของสตีฟและขับออกไป เสียงเพลงของเดอะโพลิสและบีเทิลส์ดังสนั่นหวั่นไหวจากลำโพงจนปวดหู สตีฟไม่ได้บอกทั้งสิ้นว่าเรากำลังจะไปไหนกัน
ในที่สุด เขาก็ขับเข้าไปจอดในลานจอดรถของ PARC ศูนย์วิจัยของซีร็อกซ์ที่พาโลอัลโต จากนั้นเราทั้งสองก็ถูกต้อนเข้าไปในห้องที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่น่าทึ่งสุดๆ ก่อนหน้านี้หนึ่งเดือน สตีฟกับทีมวิศวกรของแอปเปิลได้มาที่นี่แล้ว และแต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกันว่า ของดีมากมายที่เห็นที่นี่ มีประโยชน์กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลบ้างหรือไม่
วันนี้สตีฟกลับมาเพื่อดูอีกครั้ง และเขาตื่นเต้นมาก น้ำเสียงของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเห็นอะไรบางอย่างที่ “โคตรเยี่ยม” ซึ่งผมเพิ่งได้เห็นในวันนั้น มันคืออุปกรณ์หยาบๆ ซึ่งภายหลังเราจะเรียกกันว่า เมาส์ พรินเตอร์ และจอภาพที่ไม่ใช่แค่แสดงได้แค่ตัวอักษรและตัวเลขเท่านั้น แต่ยังแสดงภาพลายส้นและกราฟิก รวมทั้งเมนูรายการที่คุณสามารถเลือกได้ด้วยเมาส์ ในภายหลังสตีฟจะพูดถึงการไป PARC ว่าคือ “นิมิต” ที่ทำให้เขาได้เห็นอนาคตของคอมพิวเตอร์
ในตอนนั้น PARC กำลังสร้างคอมพิวเตอร์เมนเฟรมสำหรับซีร็อกซ์ เพื่อแข่งขันกับ IBM โดยคาดว่าราคาจะอยู่ที่ 10,000 – 20,000 เหรียญ แต่สตีฟได้เห็นอีกอย่างว่า นี่แหละคือคอมพิวเตอร์สำหรับทุกคน
สตีฟไม่ได้เพียงแค่ได้เห็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เท่านั้น เช่นเดียวกับเด็กผู้ชายในยุคกลางในอิตาลีที่เดินเข้าไปในสำนักสงฆ์และได้ค้นพบพระเยซู สตีฟได้พบลัทธิ “ความเป็นมิตรกับผู้ใช้” หรือว่าบางทีเขาอาจจะมีความต้องการนี้อยู่แล้ว แต่เพิ่งค้นพบวิธีที่จะทำให้เป็นไปได้...สตีฟ ผู้เป็นยอดนักบริโภค สตีฟ เจ้าแห่งวิสัยทัศน์ของสุดยอดผลิตภัณฑ์ ได้เดินสะเปะสะปะเข้ามาบนเส้นทางที่จะนำเขาไปสู่อนาคตที่เกรียงไกรแล้ว
แน่นอน เส้นทางนี้ไม่ได้ราบรื่น ในเวลาต่อมาสตีฟจะทำความผิดพลาดที่น่าผิดหวัง ความผิดพลาดร้ายแรงที่เกือบจะถึงขั้นหายนะ ความผิดพลาดที่ทำให้เขาสูญเสียเงินทองมากมายระหว่างทาง หลายครั้งที่ความผิดพลาดของเขามาจากความทะนงตนว่าตนถูกเสมอ หรือความเชื่อมั่นอย่างหัวชนฝา อันเป็นที่มาของวลีที่ว่า “my
way or the highway” (ถ้าไม่ทำตามที่ฉันบอกก็ออกไป)
แต่สิ่งที่ยอดที่สุดสำหรับผมซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานใหม่ของเขาในวันนั้นคือ การได้เห็นการเปิดใจกว้างรับความเป็นไปได้ของสตีฟ ได้เห็นความตื่นเต้นของเขาเมื่อตระหนักถึงความเป็นไปได้และคุณค่าของไอเดียใหม่ๆ แล้วโอบรับมันด้วยความยินดี ความกระตือรือร้นของสตีฟทำให้คนรอบข้างพากันตื่นเต้นไปด้วย สตีฟเข้าใจความเชื่อของผู้คนที่เขาจะสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นอย่างดี เพราะเขาเองเป็นหนึ่งในนั้นด้วย และเนื่องจากเขาคิดเหมือนกับลูกค้าในอนาคตของเขา เขาจึงรู้ได้ทันทีเมื่อเห็นสิ่งที่จะเป็นอนาคต
หนังสือมือสอง ขนาด 6 X 9 นิ้ว จำนวน 280 หน้า
ดูรายละเอียดได้ที่
หรือแวะชมหนังสือเล่มอื่นๆ ได้ที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น